เพราะเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ป่าซึ่งเป็นลมหายใจของโลก “บางจากฯ” ได้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และในโอกาสครบรอบ 35 ปี บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงจัดโครงการ “Stop Soil Erosion, Save our Future หยุดการชะล้างพังทลายของดิน คืนชีวิตให้แก่นมะกรูด ด้วยศาสตร์พระราชา” ภายใต้แนวคิด Greenovate our tomorrow เพื่อคืนพื้นที่ป่าและสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน ให้ชาวแก่นมะกรูด จังหวัดอุทัยธานี โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วย ณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีฯ ม.เกษตรศาสตร์ และ เหล่าเซเลบริตี้หัวใจสีเขียว อาทิ สิริยส เทพหัสดิน ณ อยุธยา, ปาวา นาคาศัย, พัฒนียา อุชชิน, ธัญรดี ธรรมมณีวงศ์, อภินัทธ์ พลาฤทธิ์ มาร่วมงานและร่วมแรง ขุดคลอง ปลูกหญ้าแฝก สร้างกำลังใจให้กับชาวแก่นมะกรูด ณ ห้องประชุม สภาตำบลแก่นมะกรูด ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี เมื่อวันก่อน
เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวางแผนยุทธศาสตร์และพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท บางจากฯ ให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมมาโดยตลอด รวมถึงการมีส่วนร่วมชะลอปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะสภาพภูมิอากาศ หรือ โลกร้อน การขยายธุรกิจสู่พลังงานสีเขียว พร้อมพัฒนาธุรกิจ Bio Economy โดยในปีนี้ได้เข้าร่วมโครงการด้านดินเพราะเห็นว่าเป็นแนวทางที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากโลกร้อน เพราะดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จะก่อให้เกิดชีวิต เป็นแหล่งอาหาร แหล่งพลังงาน หากดินเสื่อมสภาพจะนำภัยพิบัติมาสู่ผู้คน โดยเฉพาะเกษตรกร เนื่องในโอกาส 35 ปี บางจากฯ จึงเข้าร่วมโครงการ “Stop Soil Erosion, Save our Future หยุดการชะล้างพังทลายของดิน คืนชีวิตให้แก่นมะกรูด ด้วยศาสตร์พระราชา” ร่วมกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กรมพัฒนาที่ดินและจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา การชะล้างพังทลายของดินด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดินของเกษตรกรตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และยังป้องกันการบุกรุกพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทั้งนี้จะน้อมนำศาสตร์พระราชาไปลงทำงานนำร่องกับ 4 ครอบครัว พื้นที่กว่า 20 ไร่ และทำในลักษณะโครงการวิจัย มีติดตามวัดผลที่จะเกิดขึ้นทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยได้วางแผนกำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์สำคัญและติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวเนื่องจากการหยุดชะล้างหน้าดินร่วมกับ กรมพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีนี้”
ด้าน ประสิทธิ์
โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวถึงความสำคัญของตำบลแก่นมะกรูด
อำเภอบ้านไร่ว่า “ในพื้นที่แก่นมะกรูดมีรถไถไม่น้อยกว่า 240 คัน การใช้เครื่องจักร ไถพรวนหน้าดินในพื้นที่ลาดชันเพื่อทำไร่
กับการเผาหน้าดิน เป็นตัวเร่งการชะล้างพังทลายของดินให้รุนแรง
ซึ่งพื้นที่นี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเป็นป่าต้นน้ำ และป่ารอยต่อป่าสงวนแห่งชาติ
เมื่อพื้นที่เดิมทำเพาะปลูกไม่ได้ ป่าก็เสี่ยงที่จะถูกบุกรุกเพิ่ม โครงการ “Stop
Soil Erosion, Save our Future หยุดการชะล้างพังทลายของดิน
คืนชีวิตให้ แก่นมะกรูด ด้วยศาสตร์พระราชา” นี้ จะช่วยให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาความอุดมสมบูรณ์
ของดินและการบริหารจัดการพื้นที่ของตัวเองให้มีทั้งดินดี น้ำดี แล้วป่าก็จะกลับมา
น้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้ได้อย่างดี”
เซเลบริตี้หัวใจสีเขียว “พิม – พัฒนียา อุชชิน” กล่าวว่า “พิมรู้สึกดีใจที่มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการดีๆจากบางจากฯ โครงการที่คนกรุงอย่างเราไม่ค่อยนึกถึง แต่แท้จริงแล้วมีผลกระทบต่อทุกๆ คน เพราะหากดินไม่อุดมสมบูรณ์ก็ไม่สามารถปลูกพืชผักเพื่อเป็นอาหารดีๆ ได้ ซึ่งการรักษาหน้าดินไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะนานวันเข้าธรรมชาติก็ถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเราปลูกฝังความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรก็จะส่งผลเชิงบวกทั้งทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและทางด้านเศรษฐกิจด้วย ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและอาชีพของคนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรก็ต้องพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของดินในการปลูกพืชพรรณต่างๆ หากเรายังปล่อยให้มีการทำเกษตรกรรม แบบผิดๆ เช่น การเคลียร์หน้าดินด้วยวิธีการเผา เมื่อฝนตกลงมา หน้าดินที่ถูกทำลายก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้ ผลผลิตก็เสียหาย และเพาะปลูกอะไรไม่ได้”
ด้านสาว ถิงถิง – ธัญรดี ธรรมมณีวงศ์ เผยว่า “วันนี้สนุกดีค่ะที่ได้มาทำอะไรให้กับธรรมชาติบ้าง ส่วนตัวสนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อนอยู่แล้ว ซึ่งตัวถิงเองก็พยายามลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน ส่วนวันนี้ได้มีโอกาสมาเรียนรู้เรื่องดินนั้นสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ถ้าไม่มีดิน ก็จะเพาะปลูกไม่ได้ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ของ บางจากฯ ที่ช่วยพัฒนาชีวิต สร้างอาชีพให้กับชาวแก่นมะกรูด”